ตุลาคม

2311 จำนวนผู้เข้าชม  | 

ตุลาคม

เทศกาลกินเจ ภูเก็ต
          ในตัวเมืองภูเก็ต ...แน่นอนถนนสายสำคัญ ๆ จะเกลื่อนกล่นไปด้วยผู้คน และนักท่องเที่ยวจากทั่วสารทิศ ที่นุ่งขาวห่มขาว ธงเหลืองสะบัดพลิ้วปลิวไสว ประทัดสีแดงฉานถูกจุดก้องไกรดารดาษไปทั่วทุกท้องถนน  ประเพณีถือศีลกินผัก มีหลากหลายตำนาน ที่น่าสนใจยิ่งจากประเทศจีน แต่สำหรับเกาะสวรรค์แห่งนี้แล้ว มีหลักฐานว่า เริ่มต้นพิธีครั้งแรกที่อำเภอกะทู้ เมื่อ 184 ปี ที่ผ่านมา  ใน พ.ศ. 2368 มีบันทึกทางประวัติศาสตร์ว่า ...พระยาถลาง ได้ย้ายเมืองมาตั้งที่บ้านเก็ตโฮ่ ซึ่งอุดมไปด้วยแร่ดีบุก แต่ตอนนั้นยังเป็นป่าทึบ ชุมชุกด้วยไข้มาเลเรีย ต่อมามีคณะงิ้วปั่วฮี่ จากเมืองจีนมาเปิดการแสดง ชาวคณะได้เกิดล้มป่วยลง คณะงิ้วจึงได้ประกอบพิธีกินผักขึ้น เพื่อบวงสรวงเทพเจ้า ‘กิ๋วฮ๋องไต่เต่’ และ ‘ยกอ๋องซ่งเต่’ การณ์ปรากฏว่า โรคภัยไข้เจ็บได้หายไปหมดสิ้น จากนั้นมา ชาวกะทู้เกิดความศรัทธาสูงสุด จึงประกอบพิธีกินผักขึ้น โดยเริ่มตั้งแต่ วันขึ้น 1 ค่ำ ถึงวันขึ้น 9 ค่ำ เดือน 9 (ตามปฏิทินจีน) รวม 9 วัน 9 คืน มาเป็นประจำทุกปี จนถึงทุกวันนี้     ตลอด 9 วันสำคัญดังกล่าว ทุกคนที่เข้าร่วมพิธี จะต้องงดเว้นการบริโภคเนื้อสัตว์ รวมทั้งน้ำนมและน้ำมัน ที่มาจากสัตว์ รักษาศีลห้า ทำบุญทำทาน รักษาจิตใจให้บริสุทธิ์แต่งกายสีขาว งดบริโภคผักที่มีกลิ่นแรงทุกชนิด     เย็นวันที่ 17 ตุลาคม ถือว่าเป็นวันสุกดิบ ก่อนเริ่มเทศกาล... ตามศาลเจ้าต่าง ๆ จะเริ่มทำพิธียกเสา ‘โก้เต้ง’ สัญลักษณ์ของเทศกาลการกินผักขึ้น โดยบนยอดเสา จะมีตะเกียง 9 ดวง ประดับไว้เพื่อบูชาเทพเจ้า 9 องค์ ตามความเชื่อตามตำนาน และต้องจุดไว้ตลอด 9 วัน จนกว่าพิธีจะจบสิ้น     ทุก ๆ วันต่อ ๆ มา จะมีขบวนแห่จากม้าทรงและพี่เลี้ยง จัดขบวนออกมาให้ชื่นชม และสักการะ กันอย่างน่าตื่นตาตื่นใจ เมื่อเชิญเทพประทับร่างแล้ว แต่ละองค์จะสำแดงอิทธิฤทธิ์แตกต่างกันไป โดยทุกองค์เน้นที่การทรมานตนเอง เพื่อเป็นการสะเดาะเคราะห์ให้กับผู้ถือศีลกินผัก ตามความเชื่อว่า ‘กิ้วอ๋องไต่เต่’ (ราชาผู้เป็นใหญ่ทั้งเก้า) จะเป็นผู้รับเคราะห์แทน     แต่ละคืน ตามศาลเจ้าต่าง ๆ จะจัดให้มีพิธีการลุยไฟบนกองถ่าน ปีนบันไดมีด ...ฯลฯ และพิธี ‘โก๊ยห่าน’ หรือการสะเดาะเคราะห์ด้วยการเดินข้ามสะพาน และจัดพิธีแห่พระส่งกลับสวรรค์ในตอนใกล้เที่ยงคืน โดยการเชิญ ‘หยกอ๋องซ่งเต่’ หรือพระอิศวร ซึ่งถูกอัญเชิญมาเป็นประธาน ในพิธีตลอดทั้ง 9 วัน 9 คืน ให้เสด็จกลับคืนสู่สรวงสวรรค์
 

ออกพรรษาเชียงคาน
ประเพณีออกพรรษาและผาสาดลอยเคราะห์  เป็นประเพณีเก่าแก่ของชาวเชียงคาน สืบทอดกันมาเป็นร้อยปี ซึ่งทางเทศบาลตำบลเชียงคานจัดงานต่อเนื่องมาทุกปี  ชมขบวนแห่เทิดพระเกียรติ ขบวนแห่ปราสาทผึ้ง ขบวนแห่วัฒนธรรม และขบวนแห่ของดีเมืองเชียงคาน  ชมขบวนแห่พิธีกรรม “ผาสาดลอยเคราะห์” ร่วมประกอบพิธีกรรม “ผาสาดลอยเคราะห์” และชมการแข่งขันการไหลเรือไฟ.


บั้งไฟพญานาค หนองคาย
          บั้งไฟพญานาค หรือชื่อที่เรียกกันในก่อนปี พ.ศ. 2529 ว่า บั้งไฟผี เป็นปรากฏการณ์ที่เกิดขึ้นกลางแม่น้ำโขง เห็นได้จากทั้งฝั่งไทยและลาว ลักษณะเป็นลูกกลมเรืองแสงลอยขึ้นจากน้ำขึ้นไปในอากาศ จำนวนลูกไฟมีรายงานระหว่างหลายสิบถึงหลายพันลูกต่อคืน บั้งไฟพญานาคเกิดช่วงวันออกพรรษาของแต่ละปี   บั้งไฟพญานาคยังไม่สามารถระบุสาเหตุได้แน่ชัด แต่มีคำอธิบายสามแนวทาง คือ เป็นปรากฏการณ์เหนือธรรมชาติตามตำนาน เป็นปรากฏการณ์ธรรมชาติ และเป็นการกระทำของมนุษย์  ลักษณะการเกิด การเกิดบั้งไฟพญานาค บั้งไฟจะเอนเข้าหาฝั่ง หากขึ้นกลางแม่น้ำโขง แต่หากขึ้นริมฝั่ง บั้งไฟจะเอนออกไปกลางโขง ลักษณะเป็นดวงไฟขนาดเล็กเท่าหัวแม่มือ ไปจนถึงขนาดเท่าไข่ห่านหรือผลส้ม มีสีแดงอมชมพูออกสีบานเย็น หรือสีแดงทับทิม ไม่มีควัน ไม่มีเขม่า ไม่มีเปลว ไม่มีเสียง ไม่มีกลิ่น โดยบั้งไฟพญานาคจะเริ่มปรากฏจากเหนือผิวน้ำ ตั้งแต่ระดับ 1-30 เมตร พุ่งสูงขึ้นไปประมาณระดับ 50-150 เมตร เป็นเวลาประมาณ 5-10 วินาที แล้วจะดับหายวับไปในอากาศ ทั้งที่ดวงไฟยังโตอยู่ มิได้หรี่เล็กลงแล้วค่อย ๆ ดับ และไม่มีลักษณะโค้งตกลงมาเหมือนดอกไม้ไฟ
          ตำแหน่งที่บั้งไฟพญานาคมักจะปรากฏให้เห็นว่า ทั่วทั้งจังหวัดหนองคาย มีอยู่ทั้งหมดประมาณ 20 จุด โดยในจังหวัดหนองคายเกิดขึ้นหลายจุด แต่จุดที่เกิดขึ้นเป็นประจำทุกปี มีผู้พบเห็นบ่อยครั้งเริ่มจากที่อำเภอสังคม บริเวณ "อ่างปลาบึก" บ้านผาตั้ง บริเวณหน้าที่ว่าการอำเภอสังคม ต่อมาที่บริเวณ "วัดหินหมากเป้ง" อำเภอศรีเชียงใหม่ ถัดจากนั้นก็จะพบในเขตอำเภอเมืองบ้านหินโงม ตำบลหินโงม อำเภอเมืองหนองคาย หน้าสถานีตำรวจภูธรตำบลบ้านเดื่อ ตำบลบ้านเดื่อ อำเภอเมืองหนองคาย พอเข้าสู่เขต อำเภอโพนพิสัยก็จะพบแทบจะตลอดลำน้ำโขง ตั้งแต่ปากห้วยหลวง ตำบลห้วยหลวง ในเขตเทศบาลตำบลจุมพล หน้าวัดไทย วัดจุมพล วัดจอมนาง หนองสรวง เวินพระสุก ท่าทรายรวมโชค ตำบลกุดบง บ้านหนองกุ้ง ซึ่งที่อำเภอโพนพิสัยจะพบมากที่สุด แล้วมาพบอีกที่อำเภอรัตนวาปี บริเวณ ปากห้วยเป บ้านน้ำเป วัดเปงจาเหนือ บ้านหนองแก้ว ในเขตอำเภอปากคาด จังหวัดบึงกาฬ บ้านปากคาดมวลชล ห้วยคาด และที่อำเภอเมืองบึงกาฬ บริเวณวัดอาฮง ตำบลหอคำ ซึ่งเป็นจุดที่ชาวหนองคายเชื่อกันว่าเป็นสะดือแม่น้ำโขง เป็นเมืองหลวงของเมืองบาดาล ก็ปรากฏบั้งไฟพญานาคให้เห็นเช่นกัน สำหรับจังหวัดอุบลราชธานี มีชาวบ้านพบเห็นในอำเภอโขงเจียม กำหนดจุดชมไว้ 3 แห่ง คือ บ้านกุ่ม บ้านท่าล้ง และบ้านตามุย สำหรับระยะเวลาในการขึ้นของบั้งไฟพญานาคนั้นจะขึ้น ระหว่างตะวันตกดินถึงประมาณ 23.00 น. ก็จะหมดไป


ไหลเรือไฟ นครพนม
เทศบาลตำบลธาตุพนม อ.พระธาตุพนม จ.นครพนม จัดกิจกรรมกระทงสาย หรือการไหลเรือไฟโบราณ ที่บริเวณริมแม่น้ำโขง มีประชาชนร่วมงานกันอย่างคึกคัก...
อ.พระธาตุพนม จ.นครพนม หลังวันออกพรรษาคึกคัก มีการจัดลอยกระทงสายหรือการไหลเรือไฟโบราณ โดยเทศบาลตำบลพระธาตุพนม มีชาวบ้านทุกหมู่บ้านภายในเทศบาลเข้าร่วมกิจกรรม ซึ่งจุดเด่นของการไหลเรือไฟโบราณในครั้งนี้ คือการใช้กะลามะพร้าวใส่เทียนไขด้านในจุดไฟแล้วนำมาลอยในแม่น้ำโขง เพื่อขอขมาพระแม่คงคาและสิ่งศักดิ์สิทธิ์ทั้งหลายที่อยู่ในแม่น้ำโขงรวมถึง พญานาคตามความเชื่อของคนอีสาน และเพื่อความเป็นสิริมงคล ซึ่งเป็นประเพณีที่มีมาแต่โบราณ สร้างความสวยงามสว่างไสวเป็นสายยาวในแม่น้ำโขง ประกอบกับเป็นคืนพระจันทร์เต็มดวง ทำให้การลอยกระทงสายมีความสวยงามมากยิ่งขึ้น การจัดงานในครั้งนี้จะมีความแตกต่างกับการไหลเรือไฟที่จัดภายใน จ.นครพนม นับเป็นเสน่ห์อีกอย่างหนึ่งที่สามารถดึงดูดนักท่องเที่ยวให้มาเยี่ยมชม


แห่ปราสาทผึ้ง สกลนคร
          ชาวสกลนครได้ถือปฏิบัติตามฮีตสิบสองหรือประเพณีสิบสองเดือนเหมือนชาวอีสาน ทั่วไป โดยเฉพาะประเพณีออกพรรษาหรือบุญออกพรรษา ซึ่งจัดขึ้นในวันที่ 15 ค่ำเดือน 11 นอกจากจะมีการทำบุญตักบาตรฟังเทศน์ปฏิบัติธรรมแล้ว ยังมีการจุดไต้ประทีป ปล่อยเรือไฟ แข่งเรือ และที่สำคัญคือ การแห่ปราสาทผึ้งซึ่งถือเป็นจุดเด่นของงานประเพณีออกพรรษาที่จังหวัดสกลนคร ประวัติความเป็นมาและความเชื่อที่เกี่ยวข้องกับประเพณีนั้น มีหลายสำนวนความเชื่อด้วยกัน ความเชื่อที่สำคัญได้แก่ ความเชื่อเกี่ยวกับพุทธประวัติตอนที่พระพุทธเจ้าเสด็จลงจากสวรรค์ชั้น ดาวดึงส์ในวันออกพรรษา ในครั้งนั้นพุทธศาสนิกชนต่างประหวั่นวิตกเป็นอย่างมาก เกรงว่าพระพุทธเจ้าปลีกวิเวกครั้งนี้จะไม่กลับมา จึงพากันไปเฝ้าถามพระโมคคัลลานะและพระอนุรุทธ จึงทราบความว่าพระพุทธเจ้าจะเสด็จกลับมาในวันออกพรรษาหรือวันมหาปวารณา คือ วันที่ 15 ค่ำ เดือน 11 ณ ที่ใกล้ประตูเมืองสังกัสสนคร       


ทุ่งดอกไม้ป่าแห่งดงนาทาม
"ป่าดงนาทาม" ป็นป่าอยู่บริเวณทิศเหนือของอุทยานแห่งชาติผาแต้ม มีพื้นที่ติดต่อกัน 3 อำเภอ คืออำเภอโขงเจียม อำเภอศรีเมืองใหม่ และอำเภอโพธิ์ไทร จังหวัดอุบลราชธานี ในทุกๆช่วงปลายฤดูฝน ต้นฤดูหนาวเหล่าพืชพันธุ์ดอกไม้ป่าจะบานสะพรั่งงอวดโฉมกันมากเป็นพิเศษ  จุดท่องเที่ยว - ป่านดงนาทามเป็นป่าที่ค่อนข้างมีพื้นที่ราบสูงสลับกับภูเขาหินทรายกระจาย อยู่ทั่วไป โดยเฉพาะบริเวณพลาญหินถ้ำไฮ ซึ่งเป็นบริเวณที่มีทุ่งดอกไม้และดอกไม้ที่เกิดจากซอกหินให้นักท่องเที่ยว ชื่นชมกันในช่วงฤดูหนาว   โดยทุ่งดอกไม้ดินที่เด่นๆ ของป่าดงนาทามที่พบเห็นได้ทั่วไป ได้แก่ ดุสิตา สร้อยสุวรรณา ทิพเกสร กระดุมเงิน ส่วนดอกไม้ที่ขึ้นตามซอกหินต่างๆ ได้แก่ หยาดน้ำค้าง เหลืองพิสมร เอนอ้า และแดงอุบล


เลย - เปิดฤดูกาลท่องเที่ยวภูกระดึง
เลย - เปิดฤดูกาลท่องเที่ยวภูกระดึง ประเดิมตั้งแต่วันที่ 1 ตุลาคมเป็นต้นไป หลังปิดฟื้นฟูสภาพธรรมชาติมาตั้งแต่เดือนพฤษภาคม 
      ที่บริเวณศูนย์บริการนักท่องเที่ยวอุทยานแห่งชาติภูกระดึง ต.ศรีฐาน อ.ภูกระดึง จ.เลย นายปรีชา เร่งสมบูรณ์สุข รัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม เป็นประธานพิธีเปิดการท่องเที่ยวภูกระดึงประจำปี  นับแต่วันที่ 1 ตุลาคมนี้เป็นต้นไป หลังจากปิดให้บริการนักท่องเที่ยวมาตั้งแต่เดือนพฤษภาคมของปีที่แล้ว เพื่อฟื้นฟูสภาพธรรมชาติ ซึ่งดำเนินการเป็นประจำทุกปี       
       พิธีเปิดมีขบวนแห่เสลี่ยง การแสดงศิลปวัฒนธรรมของแต่ละหมู่บ้านในตำบลศรีฐาน ร่วมเฉลิมฉลองการเปิดฤดูกาลท่องเที่ยวภูกระดึงครั้งนี้ด้วย       
       นายสนอง แก้วอำไพ หัวหน้าอุทยานแห่งชาติภูกระดึง กล่าวว่า ภูกระดึงเป็นขุนเขามหัศจรรย์แห่งเมืองเลยด้วยสัณฐานหินทรายที่มียอดตัดเรียบ จุดสูงสุดสูง 1,316 เมตร อุดมไปด้วยทุ่งหญ้าในป่าสน มีหน้าผาที่สวยงามหลายแห่ง เช่น ผานกแอ่น ผาหมากดูก และผาหล่มสักที่เปรียบเสมือนสัญลักษณ์อย่างหนึ่งของภูกระดึง ท่ามกลางอากาศเย็นสบาย


ดอกเทียนนกแก้ว ดอยหลวงเชียงดาว จังหวัดเชียงใหม่
ดอกเทียนนกแก้ว ดอกไม้แปลกตาเป็นพรรณไม้เฉพาะถิ่นของไทย หาไม่ได้จากที่ใดๆ ในโลก  จัดอยู่ในกลุ่มของต้นเทียน  มีรูปทรงดอกที่สวยงามเหมือนดั่งนกที่โดนแมวกัดไปครึ่งตัว เราเรียกชื่อตามลักษณะรูปทรงว่า เทียนนกแก้ว จัดอยู่ในกลุ่มพืชล้มลุก ลำต้นอวบน้ำ สูง 0.5-1.5 เมตร ใบเดี่ยวรูปไข่กว้าง โคนใบมน ปลายใบแหลม ขอบใบจัก ขนาดกว้าง 2-4 ซม. ยาว 5-10 ซม.  ลักษณะดอกเหมือนดังที่เห็นในภาพ  ออกเดี่ยวตามก้านใบ หรือปลายยอด ขนาดดอกกว้าง 2-3 ซม. ยาวประมาณ 5-7 ซม. ช่วงเวลาออกดอก  ต.ค. - พ.ย.  ประโยชน์คือ สวย ชมแล้วชื่นใจ เทียนนกแก้ว เป็นพรรณไม้บนเขาสูงไม่สามารถหาชมได้จากแปลงดอกไม้ตามพื้นราบทั่วไป ระดับความสูงที่พบต้นเทียนนกแก้วคือ 1,500 -1,800 เมตร และพบได้เพียงที่เดียวคือที่ดอยหลวงเชียงดาว ดอกจะบานราวเดือนตุลาคม - พฤศจิกายน คนทั่วไปจึงไม่มีโอกาสได้เห็นเพราะอยู่บนภูเขาสูง

Powered by MakeWebEasy.com
เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพและประสบการณ์ที่ดีในการใช้งานเว็บไซต์ของท่าน ท่านสามารถอ่านรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว  และ  นโยบายคุกกี้